วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

แอมเวย์ ประเทศไทย สร้างสถิติใหม่ ยอดขายโตสวนกระแสปี 2562 ทะลุ 20,190 ล้านบาท


แอมเวย์ ประเทศไทย ทำสถิติใหม่ ยอดขายสูงสุดต่อเนื่อง 5 ปีรวด โดยปี 2562 ปิดยอดขาย 20,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% พร้อมติดตำแหน่งท็อป 5 ยอดขายสูงสุดของแอมเวย์ทั่วโลก ขณะที่แอมเวย์ทั่วโลก ยอดขายรวม 8,400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2563 บริษัทเตรียมลงทุนกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และการสร้างผลตอบแทนให้กับนักธุรกิจแอมเวย์ เพื่อช่วยให้ขับเคลื่อนธุรกิจเติบโต พร้อมสนับสนุนให้นักธุรกิจแอมเวย์เติมเต็มความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น ชูผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามที่ยังเป็นเทรนด์มาแรงทั่วโลก



คุณกิจธวัช ฤทธีราวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา แอมเวย์ประเทศไทยปิดยอดขายรวมที่ 20,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปี 2561 ที่ผ่านมา โดยเป็นการเติบโตต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ซึ่งประเทศไทยเป็นตลาดที่มียอดขายสูงสูดติดอันดับ 5 ของแอมเวย์ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก

ปัจจัยความสำเร็จมาจากผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ฮีโรโปรดักต์ ซึ่งตรงกับเทรนด์การรักสุขภาพและดูแลตัวเองของคนยุคใหม่ และผลตอบรับที่แรงอย่างต่อเนื่องจากการเปิดตัวคอร์พลัส (CORE PLUS+) โปรแกรมเพิ่มเงินรางวัลพิเศษนอกเหนือจากแผนรายได้หลักให้กับนักธุรกิจแอมเวย์ทุกระดับ


สำหรับในปี 2563 นี้ แอมเวย์ประเทศไทยยังคงเน้นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม รุกโปรแกรมคอร์พลัส ที่ช่วยให้นักธุรกิจตั้งแต่รายใหม่จนถึงระดับผู้นำได้รับเงินรางวัลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีธุรกิจที่มั่งคงและยั่งยืน โดยหมัดเด็ดของกลยุทธ์จะเน้นด้านการตลาดออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบรับตามเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อออนไลน์ และโซเชียล มีเดีย รวมถึงความสะดวกรวดเร็วในการเลือกซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์


ขณะที่ยอดขายแอมเวย์ทั่วโลกในปี 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 8,400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดที่มียอดขายสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น และไทย ซึ่งปี 2563 นี้แอมเวย์เตรียมลงทุนกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐในทั่วโลก เพื่อพัฒนาด้านแพลตฟอร์มดิจิทัล นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และการสร้างผลตอบแทนให้กับนักธุรกิจแอมเวย์

แพลตฟอร์มดิจิทัล หนึ่งในตัวอย่างที่แอมเวย์ลงทุนเพื่อให้นักธุรกิจแอมเวย์สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าผ่านโซเชียล มีเดีย คือ แพลตฟอร์ม 3E หรือ “Easy, Early, Earning” ในตลาดประเทศจีน ซึ่งแอมเวย์พัฒนาร่วมกับเทนเซ็นต์ บริษัทเทคโนโลยี ชั้นนำของโลก เพื่อให้นักธุรกิจแอมเวย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านโซเชียล คอมเมิร์ซ โดยปัจจุบันแอมเวย์กำลังลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อนำเสนอแพลตฟอร์มที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในตลาดอื่นๆ ทั่วโลก


ด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ แอมเวย์เตรียมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย และอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และยังลงทุนอย่างต่อเนื่องในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สำหรับส่วนประกอบจากธรรมชาติในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนิวทริไลท์และผลิตภัณฑ์ความงามอาร์ทิสทรี โดยเฉพาะพืชพรรณที่แอมเวย์เพาะปลูกในฟาร์มออแกนิคบนพื้นที่กว่า 15,000 ไร่ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และบราซิล


ส่วนการสร้างผลตอบแทนให้กับนักธุรกิจแอมเวย์ ด้วยคอร์พลัส โปรแกรมเงินรางวัลพิเศษรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้ผู้เริ่มต้นธุรกิจแอมเวย์มีรายได้เพิ่มขึ้น และสนับสนุนนักธุรกิจแอมเวย์ ให้มีโครงสร้างธุรกิจที่มั่นคงและยั่งยืน
คุณกิจธวัช กล่าวทิ้งท้ายว่า จากภาพความสำเร็จดังกล่าว แอมเวย์ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาตามแผนกลยุทธ์อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้แอมเวย์เป็นธุรกิจที่ทำให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แอมเวย์ยึดมั่นมาโดยตลอด

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2563

ถ้าไม่อยากหมดตัวกับธุรกิจ ขายตรง ต้องอ่าน 5 อย่า..นี้

5 อย่า ถ้าไม่อยาก หมดตัวกับ ...ขายตรง

หลายคนอาจจะเคยเจอ หรืออาจเคยเข้าไปสัมผัสกับธุรกิจขายตรง หลายคนประสบความสำเร็จกับธุรกิจขายตรง แต่ก็มีอีกหลายคนหรือจำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จ หรือเจ๊งกับธุรกิจนั่นเอง วันนี้เราจึงมาแนะนำว่า ถ้าไม่อยากหมดตัวกับธุรกิจขายตรง ต้องดู 5 อย่า มาดูอย่าแรกกันเลย


1.       อย่าเชื่อทั้งหมด 100% อย่าเชื่อเพราะเพียงเห็นว่า เจ้าของเป็นคนถือศีล หรือ เพียงเพราะใส่ชุดขาว เพราะสิ่งที่เราเห็นหรือดูจากภาพภายนอก อาจไม่เป็นจริงอย่างสิ่งที่เราเห็น แต่จงกลับไปดูพฤติกรรมในอดีต หรือไปสืบประวัติของเจ้าของว่า มีนิสัยอย่างไร จะได้วิเคราะห์ถูกว่าเราควรจะเดินตามหรือไม่



2.       อย่าทุ่มจนเกินตัว เพราะไม่มีอะไรแน่นอน ธุรกิจขายตรงไม่ใช่ธุรกิจของพ่อแม่เรา การที่เราทุ่มเทอะไรเกินตัวไป มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าเราทุ่มเกินตัวโดยไม่ได้วิเคราะห์หรือแยกแยะอะไรเลย อาจทำให้หมดตัวได้ เพราะระหว่างที่เรากำลังเดินหน้าปะ ฉะ ดะ อยู่นั้น ทางหลังบ้าน เช่น บริษัทกำลังมีปัญหาภายใน ผู้บริหารแตกคอกันเอง หรือ บริษัทอาจมีการล้วงสายงานเรา หรือ บริษัทอาจมีการปรับแผนการตลาดใหม่ เพื่อให้เราได้คอมมิชชั่นน้อยลง บริษัทจะได้จ่ายน้อยลง



3.       อย่าใช้เงินตัวเองมาสร้างทีม เพราะการเอาเงินตัวเองมาสร้างทีมก็ไม่ต่างอะไรกับการหาเงินหรือเอาเงินตัวเองมาให้คนอื่นใช้ สุดท้ายเงินเก่าที่เราเก็บสะสมไว้ ก็จะค่อยๆ หมดไป แต่ควรเอาเงินที่ได้จากในแผนการจ่ายผลตอบแทนมาใช้ หรืออาจใช้วิธีเอาเงินมาต่อเงิน กล่าวคือ การช่วยค่าการจัดประชุม หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้กับทีมงาน เพื่อให้เขาทำงานแทนเรา ตัวเราจะได้ไม่ต้องวิ่งช่วยทีมงาน กรณีมีทีมงานอยู่ทั่วประเทศ



4.        อย่ากลัวเสียหน้า ยอมถอยเมื่อรู้ว่า บริษัทไปต่อไม่ได้ คนไทยส่วนใหญ่มักมีนิสัย “เสียอะไรไม่ว่า แต่อย่าเสียหน้า ข้าไม่ยอม” จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้หลายคนหมดตัวกับธุรกิจขายตรง เพราะจมไม่ลง ทั้งที่รู้ว่าเรือกำลังจม แต่ก็จะพยุงเอาไว้ หวังว่าจะกู้กลับคืนมาได้ โดยเอาเงินเก่ามาถมเติมเต็มเรื่อยๆ สุดท้ายบริษัทก็ปิดอยู่ดี สู้เราเก็บเงินและรักษาทีมงานองค์กรเอาไว้ เพื่อจะได้ไปทำที่บริษัทใหม่ หรือ ไปทำธุรกิจอื่นแทน


5.       อย่าทำ ถ้าคุณไม่รู้อะไรเลยในธุรกิจ เพราะคุณจะตกเป็นเหยื่อของคนอื่นแน่นอน ยิ่งเขาบอกให้คุณลงทุนเลย แล้วจะได้เท่านั้นเท่านี้ ลงทุนแล้วไม่ต้องทำอะไร รอรับเงินอย่างเดียว เดี๋ยวจะเอาคนมาต่อ เพื่อให้ได้ตังค์ ยิ่งคนที่มีเงินมักจะถูกเสนอให้เปิดเป็นคลังสต็อกสินค้า เพื่อกิน All Sale เท่านั้นเท่านี้ แล้วจะมีคนมาซื้อสินค้าในสต็อกของคุณก็จะมีรายได้เพิ่มอีกทาง สุดท้ายลงทุนไปแล้วแต่ไม่มีคนมาซื้อ สินค้าที่ลงทุนไปก็ต้องนำมาขายตัดราคา หรือปล่อยให้หมดอายุไป



ดังนั้นถ้าไม่อยากหมดตัวกับธุรกิจขายตรง ต้องคิดดี คิดให้รอบคอบ เพราะถ้าอยากจะรวยกับธุรกิจขายตรงคุณต้องรู้ให้รอบด้านทั้งจากภายในและข้างนอกบริษัท อย่าคิดบวกมากเกินไป อย่ามองโลกสวยเพียงด้านเดียว เพราะการทำธุรกิจไม่ใช่จะมองแต่กำไรเพียงอย่างเดียว ควรจะมองลบเผื่อเอาไว้ เพื่อจะได้เตรียมทางออกเอาไว้ สุดท้ายจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของ “ธุรกิจขายตรง” นั่นเอง