วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์จัดระดมไอเดีย สมาร์ท ซิตี้ “ออกแบบได้” ให้เป็นเมืองเพื่อทุกคน


สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์จัดระดมไอเดีย สมาร์ท ซิตี้ ออกแบบได้” ให้เป็นเมืองเพื่อทุกคน



สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) ใช้เวที “ASA Real Estate Forum 2019โดยมี นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ และนายวีรพล จงเจริญใจ ประธานการจัดงานฯ ระดมไอเดียออกแบบเมืองยุคใหม่ หนุนใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือพัฒนาเมืองแห่งอนาคตที่มีความยั่งยืนและเป็น เมืองเพื่อทุกคน (Cities for All)” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในวงการอสังหาริมทรัพย์ อาทิ ดร. ภาสกร ประถมบุตร สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ฐาปนา บุญยประวิตร อัญชนา วัลลิภากร ผศ.ดร.การดี เลี่ยวไพโรจน์ ฯลฯ ร่วมเป็นวิทยากร ณ รอยัลพารากอน ฮอลล์



นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงมุมมองเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทย อนาคตเมืองนวัตกรรมสําหรับทุกคน ระหว่างงาน ASA Real Estate Forum 2019 ว่า หนึ่งในแนวโน้มสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นกับทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบในทุกมิติของชีวิต ซึ่งเมื่อผนวกรวมกับปรากฏการณ์เติบโตของสังคมเมือง (Urbanization) สัดส่วนประชากรสังคมเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการพัฒนาโครงสร้างทุกด้านที่ต้องปรับให้เข้ากับแนวโน้มเหล่านี้ สำหรับประเทศไทยช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนประชากรสังคมเมืองเพิ่มจาก 36% เป็น 50% ในปัจจุบัน และแนวโน้มตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นการขยายตัวของเมืองยังคงเกิดขึ้นแน่ๆ ทำให้การพัฒนาต่อจากนี้ไปต้องคิดถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย อีกทั้ง ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนาเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต คุณภาพบริการสาธารณะ และปรับปรุงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้การเกิดการพัฒนา เมืองเพื่อทุกคน (Cities for All)” พร้อมกล่าวย้ำว่า ผู้นำในการพัฒนาเมืองต่อจากนี้ไป ไม่ใช่ภาครัฐ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน


นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษานโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานกำหนดนโยบายภาพรวมของประเทศ มองว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า เมือง จะเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ ทั้งนี้ การพัฒนาเมือง คือ การพัฒนาวิถีชีวิต ซึ่งต้องให้สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่ใช้แบบพิมพ์นิยม หรือใครทำแล้วดี ก็ลอกแบบไปให้พื้นที่อื่น เมืองออกแบบได้ โดยทั้ง 5 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมามีส่วนร่วมในทุกระดับมากขึ้น ได้แก่ มหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และภาคสิ่งแวดล้อม การสร้างเมืองที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ต้องใช้องค์ความรู้ สถาปนิก และนักออกแบบเมืองต้องเข้ามามีบทบาท จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับวิถีชีวิต การดำเนินชีวิตของทุกคน

ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า (DEPA) กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ดีป้าได้รับมอบหมายคือ การขับเคลื่อนให้เกิดเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ท ซิตี้) โดยในมุมมองของดีป้า สมาร์ท ซิตี้ จำเป็นต้องมีระบบนิเวศ (อีโค ซิสเต็ม) ที่สำคัญ ได้แก่ การใช้ดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้อยู่ดีมีสุข และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเติบโต คนเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน เมืองจึงโดน disrupt ดังนั้นแนวคิดในการออกแบบสมาร์ทซิตี้ที่ถูกทิศทาง ก็คือ เทคโนโลยีต้องตามหลัง แต่ต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของคนที่อยู่ในเมืองนั้นๆ เป็นลำดับแรก เพราะโจทย์ปัญหาจะเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสังคม


ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า การจะทำให้เมืองเป็นของทุกคนในทุกระดับได้จริงๆ ต้องมีการสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยในส่วนของ NIA เริ่มทำงานผ่านแนวคิดการพัฒนาเพื่อชุมชน เพื่อสังคม นำร่องตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ด้วยโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรม (Innovation District) เป็นการทำนวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-based Innovation) โดยนำนวัตกรรมแทรกซึมเข้าไปในโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยในการออกแบบ ช่วยในการบริโภคได้คุ้มค่า นวัตกรรมแบบไหนควรอยู่ในเมืองแบบนั้น และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถ้าทำให้เกิดขึ้นได้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทด้วย

ปัจจุบัน NIA เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาย่านนวัตกรรมแล้ว 15 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพ 8 แห่ง และอีก 7 แห่งในต่างจังหวัดครอบคลุมทุกภาคของประเทศ ตัวอย่างเด่นๆ ได้แก่ ย่านนวัตกรรมโยธา เน้นนวัตกรรมด้านการแพทย์ เพราะโดยรอบบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมถึงมหาวิทยาลัยลำดับต้นๆ ด้านการแพทย์, ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท เน้นการพัฒนาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์, เทคโนโลยีสื่อและดิจิทัล, ย่านนวัตกรรมปทุมวัน หรือสามย่าน สำหรับเทคโนโลยีดิจิทัล และงานด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น